วิสาหกิจชุมชน (Community Enterprise) | บริษัท เอส แคปปิตอล จำกัด สินเชื่อธุรกิจ จัดกิจกรรม อีเว้นท์ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ภาครัฐ

วิสาหกิจชุมชน (Community Enterprise)

  17 พ.ย. 2558

มาทำความเข้าใจกันเกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี
วิสาหกิจชุมชน Community Enterprise

     วิสาหกิจชุมชน เป็นธุรกิจชุมชนประเภทหนึ่งที่ประกอบการในรูปแบบของ ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีหน้าที่เสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร

ความหมายของ วิสาหกิจชุมชน

     วิสาหกิจชุมชน (Community Enterprise) คือ กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกัน ประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็น นิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน
สาระน่ารู้ รัฐวิสาหกิจชุมชน

ลักษณะสาคัญของวิสาหกิจชุมชน

     วิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
  • 1. ชุมชนเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการ
  • 2. ผลผลิตมาจากกระบวนการในชุมชน โดยใช้วัตถุดิบ ทรัพยากร ทุน แรงงานในชุมชนเป็นหลัก
  • 3. ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมของชุมชน
  • 4. มีฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานภูมิปัญญาสากล
  • 5. มีการดำเนินการแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นระบบ
  • 6. มีกระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจ
  • 7. มีการพึ่งพาตนเองของครอบครัวและชุมชนเป็นเป้าหมาย

การจดทะเบียนและต่ออายุการเป็นวิสาหกิจชุมชน

     การจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน : บุคคลไม่น้อยกว่า 7 คนและไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ยื่นคำขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกับ กรมส่งเสริมการเกษตรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548
     การต่ออายุการเป็นวิสาหกิจชุมชน : วิสาหกิจชุมชนใดประสงค์จะดำเนินการต่อให้แจ้งต่อกรมส่งเสริมการเกษตรภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน หากไม่แจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ให้กรมส่งเสริมการเกษตรมีหนังสือเตือนให้วิสาหกิจชุมชนนั้นแจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ถ้าไม่มีการแจ้งตามคำเตือนดังกล่าว ให้กรมส่งเสริมการเกษตรถอนชื่อออกจากทะเบียน


วิสาหกิจชุมชน กับ สิทธิประโยชน์ทางภาษี และ หน้าที่

     ประเด็นที่ควรมาทำความเข้าใจกัน คือ คำว่า เงินได้พึงประเมิน หมายถึง รายได้ "ก่อน" หรือ "หลัง" หักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนทางภาษี สำหรับผู้ที่เรียนมา คงไม่สงสัย แต่เกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน ที่รวมตัวกันตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน คงไม่ทราบว่า เงินได้พึงประเมิน นั้น คือ รายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากการประกอบกิจการ เช่น การผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูป ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องประดับ ทั้งหลาย อันได้แก่ จำนวนสินค้าที่ขายได้ คูณราคาสินค้า รวมกันทั้งปี

     สิทธิประโยชน์ของวิสาหกิจชุมชน ทางด้านภาษี คือการได้รับยกเว้นการเสียภาษี หากว่ามีรายได้พึงประเมิน ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยดูก็คือ 150,000 บาท/เดือน หรือเฉลี่ย 5,000 บาท/วัน

     เมื่อวิสาหกิจชุมชนได้ดำเนินการขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกับกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว โดยทั่วไป วิสาหกิจชุมชนต้องมีหน้าที่ทางภาษี ดังนี้
  • 1. ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
  • 2. จัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย
  • 3. ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี


การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการลดหย่อนภาษี ให้แก่วิสาหกิจชุมชน

     รัฐบาลและกรมสรรพากร ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน จึงได้ออกกฎหมายยกเว้น โดยมีเงื่อนไข คือ

  • เป็นวิสาหกิจชุมชนที่ประกอบการในรูปของห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคล ที่มิใช่นิติบุคคล และมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 1,800,000 บาท
  • วิสาหกิจชุมชน สามารถหักค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ 60,000 บาท
  • วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับเงินได้บางประเภท เงินได้ดังกล่าวอาจถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถนำเงินภาษีที่ถูกหักไว้มาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระเมื่อยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี หรือประจำปี



แหล่งที่มา
www.rd.go.th
www.facebook.com/OTOPNews

 

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจได้ทาง Facebook