10 วิธีลดหย่อนภาษีที่ควรรู้ | บริษัท เอส แคปปิตอล จำกัด สินเชื่อธุรกิจ จัดกิจกรรม อีเว้นท์ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ภาครัฐ

10 วิธีลดหย่อนภาษีที่ควรรู้

  17 พ.ย. 2558

มาดูวิธีลดหย่อนภาษีกันค่ะ ประโยชน์ดีๆ ที่ทุกคนอาจยังไม่รู้

 



รายการหักลดหย่อน สำหรับผู้มีเงินได้

    1. ผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
    2. สามี หรือ ภรรยา ตามกฎหมาย ของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
    3. บุตรตามกฎหมาย 3 คนแรก คนละ 15,000 บาท (ต้องอายุไม่เกิน 25 ปี และยังเรียนอยู่)
    4. เบี้ยประกันชีวิต 10 ปีขึ้นไป หักได้ไม่เกิน 1แสนบาท
         เบี้ยประกันชีวิต แบบบำนาญ 10 ปีขึ้นไป หักได้เพิ่มอีก 2แสนบาท
         เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ , กองทุนรวมเลี้ยงชีพ (RMF) , กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
    5. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 1แสนบาท
    6. ประกันสังคม
    7. ลดหย่อนบิดามารดา ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 30,000 บาท
    8. ค่าอุปการะเลี้ยงดู กรณีมีบัตรประจำตัวคนพิการ คนละ 60,000 บาท
    9. เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา
    10. เงินบริจาค ให้การกุศล


10 วิธีลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณียื่นแบบ - ยื่นเพิ่ม - ขอเงินคืน ล่าช้า

บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปีหรือยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา
    1. ระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท
    2. ไม่สามารถยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ท่านต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
    3. กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ท่านต้องชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
    4. กรณียื่นเพิ่มเติมล่าช้า หลังยื่นแบบไปแล้ว
         4.1 หากต้องชำระเพิ่ม ต้องชำระภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีก1.5% ต่อเดือน หรือเศษของเดือน ของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
         4.2 หากไม่มีภาษีต้องชำระเพิ่ม ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ

    5. การขอผ่อนชำระเงินภาษี จะหมดสิทธิ์ หากท่านมิได้ชำระงวดใดงวดหนึ่งในกำหนด และต้องชำระภาษีที่ค้างทั้งหมด พร้อมเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ
    6. มีภาษีชำระไว้เกิน แต่ไม่ได้แจ้งขอคืนเงิน ให้ท่านยื่นคำร้องขอคืนเงินตามแบบ ค.10 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบภาษี โดยแนบเอกสารแล้วแต่กรณี ดังนี้
         6.1 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
         6.2 แบบ ล.ย.03 (ถ้ามี)
         6.3 สำเนาทะเบียนบ้าน
         6.4 ใบสำคัญการสมรส (ถ้ามี)
      nbsp;   6.5 หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
         6.6 ใบเสร็จรับเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
         6.7 หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นขอคืนภาษี

    7. กรณีรับคืนเงินภาษีอากรเกินไป และได้รับหนังสือทวงถามให้นำเงินไปคืน ให้ผู้ขอคืนนำเงินไปคืนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม หากผู้ขอคืนไม่นำส่งเงินคืนที่ได้รับเกินไปภายในกำหนดเวลา ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์ โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มผิดนัด



 


  ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง มาศึกษารายละเอียดกัน

  nbsp;    การหักลดหย่อน หมายถึง รายการต่างๆ ที่กฎหมายได้กำหนดให้หักได้เพิ่มขึ้นหลังจากได้หักค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีก่อนนำเงินได้ที่เหลือซึ่งเรียกว่าเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

รายการหักลดหย่อนกรณีต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้

1. การหักลดหย่อนในกรณีทั่วไป

  1.1 ผู้มีเงินได้ 30,000 บาท (ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน หรือไม่ก็ตาม)

  1.2 สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
       (1) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ที่มีสิทธิหักลดหย่อน จะต้องเป็นสามีหรือภริยาชอบด้วยกฎหมาย การสมรส ไม่ครบปีภาษีก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้ เช่น จดทะเบียนสมรสระหว่างปีภาษี หรือตายในระหว่างปีภาษี ก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท
       (2) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ที่จะนำมาหักลดหย่อนจะต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินหรือมีแต่ไม่ได้แยกคำนวณภาษี ตัวอย่าง สามีภริยาแต่งงานครบปีภาษีและต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ประเภทที่ 1 กรณีดังกล่าว ภริยาสามารถแยกคำนวณภาษีต่างหากจากสามีได้โดยชอบ ทั้งสามีภริยาจึงไม่มีสิทธินำคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้ แต่หากภริยามีเงินได้ประเภทอื่น (2-8) ให้สามีนำเงินได้ของภริยามารวมคำนวณและมีสิทธินำคู่สมรสมาหัก ลดหย่อนได้

  1.3 การหักลดหย่อนบุตร ให้หักสำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมของผู้มี เงินได้ รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย
     โดยมีเงื่อนไขว่าบุตรที่เกิด ก่อนหรือ ในพ.ศ.2522 หรือที่ได้รับเป็นบุตรบุญธรรม ก่อน พ.ศ. 2522 คนละ 15,000 บาท บุตรที่เกิด หลัง พ.ศ.2522 หรือที่ได้รับเป็นบุตรบุญธรรมในหรือหลัง พ.ศ. 2522 คนละ 15,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
     การนับจำนวนบุตรให้นับเฉพาะ บุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุสูงสุดของบุตร โดยให้นับรวมทั้งบุตร ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการหักลดหย่อนด้วย
     การหักลดหย่อนสำหรับบุตร ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาเฉพาะภายในประเทศให้ลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีกคนละ 2,000 บาท หรือเป็น ผู้เยาว์ หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู แต่มิให้ หักลดหย่อนสำหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้ ดังกล่าวต้องไม่ใช่เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 ให้ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
     การหักลดหย่อนสำหรับบุตรดังกล่าว ให้หักได้ ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีจะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ และในกรณีบุตรบุญธรรมนั้นให้หักลดหย่อนในฐานะบุตรบุญธรรมได้ในฐานะเดียว

  1.4 เบี้ยประกันภัย ที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยส่วนแรกหักได้ 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท หักได้ไม่เกินเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
     ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้มีการประกันชีวิตและความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีให้หักลดหย่อนได้ด้วยสำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายสำหรับการประกันชีวิตของสามีหรือภริยานั้นตามเกณฑ์ข้างต้น   การฝากเงินออมสินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว ก็อยู่ในข่ายที่จะขอหักลดหย่อนตามเกณฑ์นี้ได้ด้วย

  1.5 เงินสะสม ที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท เป็นเงินที่ได้รับยกเว้นภาษี โดยนำจำนวนเงินส่วนที่เกินดังกล่าวหักจากเงินได้พึงประเมิน ก่อนหักค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 490,000 บาท
     ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หักได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และเมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุน กบข. (ถ้ามี) แล้วไม่เกิน 500,000 บาท โดยต้องจ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
     ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท

  1.6 ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการดังนี้
      (1) เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมจากผู้ประกอบกิจการในราชอาณาจักรเฉพาะที่กำหนดไว้ ได้แก่ ธนาคาร บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ นายจ้างซึ่งมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนที่จัดสรรไว้เพื่อสวัสดิการแก่ลูกจ้าง บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่เขารับช่วงสิทธิ์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนกองทุนรวมดังกล่าว กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
     (2) เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ตนเองมีสิทธิครอบครอง
     (3) ต้องจำนองอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด หรืออาคารพร้อมที่ดิน เป็นประกันการกู้ยืมเงินนั้น โดยมีระยะเวลาจำนองตามระยะเวลาการกู้ยืม
     (4) ต้องใช้อาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม(3)นั้นเป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ได้รับยกเว้นภาษี แต่ไม่รวมถึงกรณีลูกจ้าง ซึ่งถูกนายจ้างสั่งให้ไปปฏิบัติงานของนายจ้าง ณ ต่างถิ่นเป็นประจำหรือกรณีอาคารหรือห้องชุดดังกล่าวเกิดอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ หรือภัยอันเกิดจากเหตุอื่น ทั้งนี้ เฉพาะที่มิใช่ความผิดของผู้มีเงินได้จนไม่อาจใช้อาคารหรือห้องชุดนั้นอยู่อาศัยได้
     (5) กรณีผู้มีเงินได้มีอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3) เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ขอหักลดหย่อนเกินกว่า 1 แห่ง ให้หักลดหย่อนได้ทุกแห่ง สำหรับอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3)
     (6) ให้หักลดหย่อนได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักลดหย่อนได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
     (7) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันกู้ยืม ให้หักลดหย่อนได้ทุกคนโดยเฉลี่ยค่าลดหย่อนตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง และไม่เกิน 100,000 บาท
     (8) กรณีสามีภริยาร่วมกันกู้ยืมโดยสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียวให้หักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
     (9) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้สมรสกัน ให้ยังคงได้รับยกเว้นภาษีดังนี้
         (ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในปีภาษีที่ล่วงแล้วมาตามวรรคหนึ่งของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ ไม่เกิน 100,000 บาท
         (ข) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ถือเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งตาม วรรคสามของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
         (ค) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสามของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และได้รับยกเว้นภาษีส่วนของสามีหรือภริยา ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

     (10) กรณีมีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เงินกู้ยืมระหว่างผู้ให้กู้ตาม (1) ให้ยังคงหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
             ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวข้างต้น ให้หมายความรวมถึง ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย หรือห้องชุดด้วย ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้ส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระนั้น
             ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองตามแบบที่อธิบดีกำหนด จากผู้ให้ให้กู้ยืม เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินการดังกล่าวนั้นด้วย

             ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 224 และ ฉบับที่ 226) )

  1.7 เงินสมทบ ที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม ตามกฎหมายว่าด้วยการ ประกันสังคมตามจำนวนที่จ่ายจริง ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ข้างต้นและความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้หักลดหย่อนได้ด้วย สำหรับเงินสมทบของสามีหรือภริยาที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมดังกล่าวตามเกณฑ์ข้างต้น

  1.8 ค่าลดหย่อนบิดามารดา กรณีผู้มีเงินได้และคู่สมรสที่มีเงินได้รวมคำนวณภาษี หรือคู่สมรสไม่มีเงินได้ อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ผู้มีเงินได้และ คู่สมรสมีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้คนละ 30,000 บาท ทั้งนี้ บิดาหรือมารดาของผู้มีเงินได้หรือคู่สมรส จะต้องออกหนังสือรับรองว่าบุตรคนใดคนหนึ่งเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเพียงคนเดียว

  1.9 ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา สามีหรือภริยา บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ บิดามารดาหรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้หรือบุคคลอื่นที่ผู้มีเงินได้ เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ คนละ 60,000 บาท โดยบุคคลดังกล่าวต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพ มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมทั้งจำนวนคนพิการ และทุกพลพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ที่อธิบดีประกาศกำหนด
       การหักลดหย่อนสำหรับบุตรบุญธรรม ให้หักได้ในฐานะบุตรบุญธรรมเพียงฐานะเดียว
       ทั้งนี้ให้หักลดหย่อนสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ.2552 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

  1.10 เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา ได้แก่ เงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา มีสิทธิหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

  1.11 การยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับการบริจาคเงิน ให้แก่กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น ให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา ๔๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับการจ่าย เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา สำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนแล้ว ทั้งนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 217) )

  1.12 การยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวก และความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ
       ให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา ๔๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของเงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับการจ่าย เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา สำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนแล้ว

        ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 214) )

  1.13 การยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่จ่ายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       ให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา ๔๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนสองเท่าของเงินที่ได้จ่าย แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา สำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนแล้ว

        ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 209) )

  1.14 เงินบริจาค เมื่อหักลดหย่อนต่าง ๆ หมดแล้ว เหลือเท่าใดให้หักลดหย่อนได้อีกสำหรับ เงินบริจาค เงินบริจาคที่หักค่าลดหย่อนได้นั้นผู้มีเงินได้ต้องบริจาคเป็นเงินให้แก่การกุศลสาธารณะ โดยหักได้ เท่าจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว

  การบริจาค ได้แก่
  (1) การบริจาคเงินให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล และสถานศึกษาของทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล สถานศึกษาเอกชน สถานสาธารณกุศล และกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ   (ต้องเป็นองค์การสถานสาธารณกุศลตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา)
  (2) การบริจาคเงินให้แก่คณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างสวนสาธารณะเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษา
  (3) การบริจาคเงินให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในโครงการปลูกป่าเทิดพระเกียรติเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ 90 พรรษา
  (4) การบริจาคเงินให้แก่กองทัพอากาศในโครงการก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริฯ
  (5) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา
  (6) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50
  (7) การบริจาคเงินให้แก่โครงการอาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 50 ปี ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
  (8) การบริจาคเงินให้แก่โครงการสืบสานพระราชปณิธาน "กาญจนาภิเษก"
  (9) การบริจาคเงินให้แก่โครงการร้อยใจช่วยเยาวชนไทยในภาวะวิกฤต
  (10) การบริจาคเงินให้แก่โครงการโพธิ์ทองของชาวไทย
  (11) การบริจาคเงินให้แก่โครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในวโรกาสทรงพระชนม์มายุ 72 พรรษา
  (12) การบริจาคเงินให้แก่ส่วนราชการที่จัดขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
  (13) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กองทุนคุ้มครองเด็ก และกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ
  (14) การบริจาคเงินเพื่อการกีฬา ให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการกีฬา คณะกรรมการกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมกีฬาในจังหวัด สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการเพื่อการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน หรือสมาคมกีฬาสมัครเล่น
  (15) การบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนรับเงิน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

   2. การหักลดหย่อนในกรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี การหักลดหย่อนผู้มีเงินได้และสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ 60,000 บาท แต่ถ้าความเป็นสามีหรือภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี หรือภริยาแยกคำนวณเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 ต่างหากจากสามี ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท และสำหรับการหักลดหย่อนบุตรและค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้อื่น ๆ ให้ต่างฝ่ายต่างหักได้กึ่งหนึ่งตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแต่ละกรณีเฉพาะในปีภาษีนั้น

   3. การหักลดหย่อนในกรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย การหักลดหย่อนผู้มีเงินได้และสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ บุตร และการศึกษาของบุตรของผู้มีเงินได้

   4. การหักลดหย่อนในกรณีผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี ให้หักลดหย่อนได้เสมือนผู้ตายมีชีวิตอยู่ตลอดปีภาษีที่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย

   5. การหักลดหย่อนในกรณีผู้มีเงินได้เป็นกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ให้หักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้30,000 บาท

   6. การหักลดหย่อนในกรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้หัก ลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนที่อยู่ในประเทศไทยคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท



        เบี้ยประกันแบบบำนาญ
        เพิ่มเติมจากประกาศ เลขที่ข่าว ปชส. 28/2555 วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ สำหรับเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป เรื่องสรรพากรส่งเสริมการออม ให้ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญถึง 2 แสนบาท ตามที่กรมสรรพากรได้ปรับเพิ่มค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต จากเดิมที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้จำนวน 1 แสนบาท
        โดยเพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท สำหรับประชีวิตแบบบำนาญ และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท ในปีภาษีเดียวกัน โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
   1. เป็นการจ่ายเบี้ยประกันสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป
   2. เป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
   3. มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจำนวนผลประโยชน์เงินบำนาญ ดังกล่าวจะจ่ายเท่ากันทุกงวด หรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้ โดยการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญจะจ่ายตามการทรงชีพ ที่อาจมีการรับรองจำนวนงวดในการจ่ายที่แน่นอน
   4. มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ ๕๕ ปีขึ้นปี ถึงอายุ ๘๕ ปี หรือกว่านั้น และผู้มีเงินได้ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ



        เรื่องค่าปรับ กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เมื่อพ้นกำหนดเวลา
   1. บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี หรือยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา
ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
   2. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ
   หากท่านมิได้ชำระเงินภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี ถือว่ามิได้ยื่นแบบ ท่านต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
   3. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา
        3.1 กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
        3.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระค่าปรับตามข้อ 1 เพียงอย่างเดียว
   4. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ
        4.1 กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
        4.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ
   5. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี
   หากท่านมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา จะหมดสิทธิ์การผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ
   6. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 มีภาษีชำระไว้เกิน แต่ไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอคืนเงิน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือยื่นแบบฯ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
   ให้ท่านยื่นคำร้องขอคืนเงินตามแบบ ค.10 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยแนบเอกสารแล้วแต่กรณี ดังนี้
        6.1 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
        6.2 แบบ ล.ย.03 (ถ้ามี)
        6.3 ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา/มารดา (ถ้ามี)
        6.4 ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันชีวิตของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)
        6.5 หนังสือรับรองการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)
        6.6 ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ/กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (ถ้ามี)
        6.7 หนังสือรับรองการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัยของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)
        6.8 หนังสือรับรองการจ่ายเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม (ถ้ามี)
        6.9 ใบเสร็จรับเงินบริจาคการกุศลของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)
        6.10 สำเนาทะเบียนบ้าน
        6.11 ใบสำคัญการสมรส (ถ้ามี)
        6.12 หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
        6.13 ใบเสร็จรับเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
        6.14 หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นขอคืน
   7. กรณีรับคืนเงินภาษีอากรเกินไป และได้รับหนังสือทวงถามให้นำเงินไปคืน
   ให้ผู้ขอคืนนำเงินไปคืนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม หากผู้ขอคืนไม่นำส่งเงินคืนที่ได้รับเกินไปภายในกำหนดเวลา ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์ โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มผิดนัด
   8. การขอคัดแบบ ภ.ง.ด.90/91
        8.1 กรณียื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต ท่านสามารถ “พิมพ์แบบฯ-ใบเสร็จรับเงิน” ได้ทางเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th. หัวข้อ ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต ==> พิมพ์แบบฯ-ใบเสร็จรับเงิน ถัดจากวันที่ยื่นแบบฯ ประมาณ 2 วันทำการ หรือยื่นคำร้องขอคัดแบบฯ ได้ด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ที่ สำนักบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ อาคารกรมสรรพากร ชั้น 27 เลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 เอกสารประกอบการขอคัดแบบฯ มีดังนี้
          (1) แบบคำร้องขอคัดแบบแสดงรายการ สามารถ Download ได้จากเว็บไซต์ www.rd.go.th ==> ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต ==> แนะนำบริการ ==> แบบฟอร์มต่างๆ
          (2) หลักฐานการแสดงตน ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทาง กรณีบุคคลต่างด้าว ที่ได้ลงลายมือชื่อรับรอง
          (3) กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำการแทน ให้จัดทำหนังสือมอบอำนาจเพื่อขอคัดแบบฯ และปิดอากรแสตมป์ 10 บาท พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจที่ได้ลงลายมือชื่อรับรองแล้ว
        8.2 กรณียื่นแบบฯ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ท่านสามารถขอคัดแบบฯ ได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ เอกสารประกอบการขอคัดแบบฯ มีดังนี้
          (1) แบบการขอใช้บริการข้อมูลข่าวสารของราชการกรมสรรพากร สามารถ Download ได้จากเว็บไซต์ www.rd.go.th ==> Download ==> แบบแสดงรายการภาษี คำร้อง/คำขอต่างๆ ==> อื่นๆ
     &nbnbsp;    (2) หลักฐานการแสดงตน ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทาง กรณีบุคคลต่างด้าว ที่ได้ลงลายมือชื่อรับรอง
          (3) กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำการแทน ให้จัดทำหนังสือมอบอำนาจเพื่อขอคัดแบบฯ และปิดอากรแสตมป์ 10 บาท พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจที่ได้ลงลายมือชื่อรับรองแล้ว


แหล่งที่มา
http://www.rd.go.th/publish/557.0.html
http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/images/image_news/news28_2555.pdf
http://www.rd.go.th/publish/37392.0.html

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจได้ทาง Facebook